ผู้ว่าฯ นราธิวาส เป็นประธานพิธีมอบหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับ เยาวชนฯ เล่มที่ 44 ฉบับพระราชทานให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
ปทิตตา หนดกระโทก ผู้สื่อข่าว นราธิวาสรายงาน Tel.0824154474
ผู้ว่าฯ นราธิวาส เป็นประธานพิธีมอบหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับ
เยาวชนฯ เล่มที่ 44 ฉบับพระราชทานให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
วันนี้ (25 ก.ย.67) ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานในพิธีมอบหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 44 ฉบับพระราชทาน ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส แห่งที่ 1 ซึ่งมีผู้บริหารโรงเรียนและผู้แทนจาก 71 โรงเรียนในพื้นที่ เข้าร่วมรับมอบฯ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สำหรับประวัติความเป็นมาของโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากที่ทรงปรารถกับอาจารย์ ตั้งแต่ปี 2506 จนกระทั่งปี 2511 มีคณะกรรมการเข้าเฝ้าที่วังสวนจิตลดาเป็นครั้งแรก ต่อมาปี 2512 จึงมีการพิจารณาเรื่องการจัดทำสารานุกรมไทยฯ เล่มตัวอย่างขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เป็นหนังสือที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชน และส่งเสริมให้หาความรู้ขั้นพื้นฐานในเรื่องราวและวิชาการต่าง ๆ ใน 7 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ และแพทยศาสตร์ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ เด็กรุ่นเล็ก อ่านเข้าใจระดับหนึ่ง เด็กรุ่นกลางระดับหนึ่ง และเด็กรุ่นใหญ่รวมถึงผู้ใหญ่ ผู้สนใจ อีกระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องทุนในการจัดทำหนังสือนี้ คณะไลออนส์แห่งประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือจัดหาทุน เพื่อให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปตามพระราชประสงค์
สำหรับโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นหนังสือสารานุกรมที่พิมพ์ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 จนถึงปัจจุบัน รวม 44 เล่ม เป็นสารานุกรมภาษาไทยจัดทำขึ้นเป็นรูปเล่ม โดยมีเนื้อหาบางส่วนเผยแพร่ในระบบออนไลน์ เป็นสารานุกรมไทยแบบเป็นชุด เน้นความรู้ที่เกิดขึ้นและใช้อยู่ในประเทศไทย จัดทำโดยคนไทย เพื่อให้คนไทยทุกเพศทุกวัยมีโอกาสได้อ่าน แต่ละเล่มรวบรวมเนื้อเรื่องจากหลากหลายสาขาวิชา เนื้อหาของเรื่องต่าง ๆ เรียบเรียงให้เหมาะสมกับ 3 ระดับความรู้ ให้แก่ เด็กรุ่นเล็ก เด็กรุ่นกลาง และเด็กรุ่นใหญ่ รวมทั้งผู้ใหญ่ที่สนใจทั่วไป แต่ละเรื่องเริ่มต้นด้วยเนื้อหาของระดับเด็กรุ่นเล็ก ตามด้วยเนื้อหาของรุ่นกลางและรุ่นใหญ่ตามลำดับ เนื้อหาในแต่ละระดับพิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดต่างกัน