เปิดคำมั่น ‘Unity Of Diversity Victory For All’ จาก ม.ธรรมศาสตร์ เจ้าภาพกีฬามหา’ลัยครั้งที่ 50 กับการใช้กีฬาสร้างการยอมรับความหลากหลาย
เปิดคำมั่น ‘Unity Of Diversity Victory For All’
จาก ม.ธรรมศาสตร์ เจ้าภาพกีฬามหา’ลัยครั้งที่ 50 กับการใช้กีฬาสร้างการยอมรับความหลากหลาย
• เจาะจิตวิญญาณของนักกีฬาในรั้วมหา’ลัยที่เชื่อในพลังของกีฬาสู่พลังความเท่าเทียม
เมื่อพูดถึง ‘กีฬา’ หลายคนอาจนึกถึงการแข่งขัน ความแข็งแกร่ง หรือชัยชนะ แต่ ‘กีฬา’ ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมและแสดงออกอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเพศ สถานะทางร่างกาย หรืออัตลักษณ์ส่วนตัว อีกทั้งเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจและส่งเสริมความหลากหลายที่สังคมอาจมองข้ามไป
เพราะ ‘กีฬา’ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเสรี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เจ้าภาพการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยครั้งที่ 50 ‘ธรรมศาสตร์เกมส์’ ได้มีโอกาสฟังเสียงจากจิตวิญญาณของนักกีฬาธรรมศาสตร์ อย่าง เมย์-ภัทรา กรังพานิชย์ นักกีฬาว่ายน้ำ และนักศึกษาปริญญาโท คณะสหเวชศาสตร์ สาขาพัฒนาการสมัยใหม่ทางการกีฬา และ ไบร์ท-ไบรท์ สุราษฎร์ นักกีฬาวอลเลย์บอล และนักศึกษาปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ชั้นปีที่ 4 เพื่อเป็น ‘สะพาน’ เชื่อมความหลากหลายในสังคม อีกทั้งยังตอกย้ำแนวคิดของธรรมศาสตร์เกมส์ที่ว่า “Unity of Diversity, Victory for all – รวมความหลากหลาย สู่ชัยชนะเพื่อคนทั้งมวล”
‘กีฬา’ เครื่องมืออันทรงพลังที่ขับเคลื่อนสังคมสู่ความเท่าเทียม
หนึ่งในคุณสมบัติที่โดดเด่นของกีฬา คือ การทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงผู้คนจากหลากหลายภูมิหลังให้มาพบกัน สร้างความสามัคคีและทลายกำแพงแห่งความแตกต่าง
‘เมย์-ภัทรา’ นักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทย และผู้แข่งขันในอาเซียนพาราเกมส์และเอเชียนพาราเกมส์ เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองว่า ในอดีตนั้น กีฬาเป็นกิจกรรมที่เหมาะกับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน การตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิในการเข้าถึง ทำให้กีฬาเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง และแสดงให้เห็นว่า ความหลากหลายไม่ใช่อุปสรรค แต่กลับเป็นพลังที่เติมเต็มและสร้างความงดงามในทุกการแข่งขันบนสนามกีฬา
กลุ่มผู้พิการเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงในวงการกีฬา ที่ในอดีตอาจถูกมองข้ามจากการแข่งขันกีฬาระดับใหญ่ แต่การเกิดขึ้นของ ‘พาราลิมปิกเกมส์’ (Paralympic Games) กลับเป็นการเปิดโอกาสให้โลกได้เห็นถึงศักยภาพที่ไร้ขีดจำกัดของมนุษย์ แต่จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้และความมุ่งมั่นนั้นกลับไม่แตกต่างจากนักกีฬาทั่วไปเลยแม้แต่น้อย
“เราได้มีโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทย โดยคว้า 3 เหรียญทองแดงจากอาเซียนพาราเกมส์ และหนึ่งเหรียญทองแดงจากเอเชียนพาราเกมส์ นี่คือหลักฐานที่ชัดเจนว่ากีฬาสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตและมุมมองของคนรอบข้างได้ เพราะเมื่อเราอยู่ในสนาม เราไม่ได้มองว่าใครพิการหรือไม่พิการ แต่เรามองกันที่ความสามารถและใจที่รักในสิ่งที่ทำ เราไม่ได้เล่นกีฬาเพื่อเป็นคนเก่งที่สุด แต่เราเล่นกีฬาเพื่อเป็นคนที่ดีขึ้น ทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง” ภัทรา เล่าอย่างภาคภูมิใจ
‘ไบรท์’ แบ่งปันว่า สนามกีฬาเคยเป็นที่ที่เต็มไปด้วยแรงกดดัน แต่หลายปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมได้นำไปสู่การยอมรับที่เปิดกว้างขึ้น นักกีฬาหลายคนกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนอย่าง เมแกน ราปิโน การยอมรับนี้ไม่เพียงแต่สร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่ม LGBTQ+ แต่ยังส่งข้อความสำคัญว่า ‘สนามกีฬาเป็นของทุก ๆ คน’
“การเป็น LGBTQ+ ในสนามกีฬาไม่เคยทำให้รู้สึกกดดัน ทุกคนยอมรับกันที่ความสามารถไม่ใช่เรื่องส่วนตัว การได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมทีมและโค้ชเป็นแรงผลักดันให้ผมทุ่มเทฝึกซ้อม และพิสูจน์ว่า ความหลากหลายไม่ใช่อุปสรรคในการเป็นนักกีฬาคุณภาพ” ไบรท์ กล่าว
‘กีฬา’ Safe Space พื้นที่ปลอดภัยที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ทุกคน
ไบร์ท เล่าว่า มธ. ให้พื้นที่ที่ปลอดภัยกับผมเสมอ ทำให้ผมรู้สึกเป็นอิสระและมั่นใจมากขึ้น เพศเป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดันที่ทำให้เราสู้ไปถึงฝั่งฝันเท่านั้น แต่ถ้าเรารักในสิ่งที่เราทำและมีความตั้งใจ เราจะประสบความสำเร็จได้ และผมพึงระลึกเสมอว่าไม่มีใครสมควรถูกปฏิเสธเพราะสิ่งที่พวกเขาเป็น
ภัทรา และไบร์ท ต่างเห็นตรงกันว่า หากการแข่งขันกีฬาตรงกับการสอบของมหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและผู้วางแผนที่ดี คอยรับฟังความตั้งใจของเราเสมอ และยังเข้าใจถึงความสำคัญของการแข่งขัน เปรียบเสมือน Safe Space ที่เชื่อมโยงเส้นทางสู่ความสำเร็จได้อย่างสมดุล บรรเทาความเครียดและความกดดัน ทำให้มีสมาธิทั้งกับการเรียนและการทำตามความฝันอย่างเต็มที่
บทบาทของมหาวิทยาลัยที่เป็นมากกว่าสถาบันการศึกษา แต่เป็นพื้นที่ที่เข้าใจและสนับสนุนให้ทุกคนก้าวข้ามทุกอุปสรรคไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมั่นคง
ท้ายที่สุดแล้ว ‘กีฬา’ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถยืนหยัดได้อย่างภาคภูมิ โดยไม่ถูกจำกัดจากข้อกำหนดของสังคม เป็นเวทีที่สะท้อนพลังแห่งความมุ่งมั่น
การยอมรับ และการเคารพในความหลากหลาย ทั้งร่างกาย จิตใจ และอัตลักษณ์ส่วนบุคคล เพราะชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการเอาชนะอคติและการยอมรับความแตกต่างของกันและกัน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ ‘ธรรมศาสตร์เกมส์’ เชื่อมั่นในพลังของกีฬาในการสร้างโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากที่ไหน หรือมีข้อจำกัดใด ‘กีฬาเป็นของทุกคน’