ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมใหญ่ เอซีซี มีวาระสำคัญเลือกตั้งประธานคนใหม่ ประธาน “ยูซีไอ” เข้าร่วมประชุมด้วย “เสธ.หมึก” ลงสมัครกรรมการบริหาร
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมใหญ่ เอซีซี
มีวาระสำคัญเลือกตั้งประธานคนใหม่
ประธาน “ยูซีไอ” เข้าร่วมประชุมด้วย
“เสธ.หมึก” ลงสมัครกรรมการบริหาร
ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2025 ของสมาพันธ์จักรยานแห่งเอเชีย (เอซีซี) ในวันที่ 6 ก.พ.68 ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท สุขุมวิท ซี่งมีวาระสำคัญคือการเลือกตั้งประธานและกรรมการบริหารชุดใหม่ที่จะหมดวาระลง โดย มร.เดวิด ลาปาเตียน ประธานสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ตอบรับคำเชิญของสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เข้าร่วมประชุมด้วย ด้าน “เสธ.หมึก” จะลงสมัครในตำแหน่งกรรมการบริหารเอซีซี หลังจากได้รับเลือกตั้งติดต่อกันมาแล้วหลายสมัย
“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี ประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอฟ) และนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า จากที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2025 ของสมาพันธ์จักรยานแห่งเอเชีย (เอซีซี) โดยกำหนดไว้ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท สุขุมวิท ซึ่งจะมีวาระการประชุมสำคัญคือการเลือกตั้งประธานและคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ หลังจากที่คณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบันที่มี มร.โอซามะห์ อัลชาฟาห์ ชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นประธานคนปัจจุบันจะหมดวาระลง
พลเอกเดชา กล่าวว่า ล่าสุด มร.เดวิด ลาปาเตียน ประธานสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ตอบรับคำเชิญของสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ที่จะเดินทางมาร่วมการประชุมใหญ่สามัญในครั้งนี้พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของยูซีไอ ประกอบด้วย อามินา ลานาย่า ผู้อำนวยการยูซีไอ มร.ฌ้ากส์ แลนดรี้ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกจักรยานโลก (ดับเบิลยูซีซี) ซึ่งก็จะเป็นโอกาสอันดีในการที่จะหารือเพื่อยกระดับความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐานกีฬาจักรยานของไทยและภูมิภาคเอเชีย
“การมาร่วมเป็นสักขีพยานในการประชุมใหญ่สามัญเอซีซี ของ มร.ลาปาเตียนและคณะ นอกเหนือจากการประชุมใหญ่แล้ว ก็ยังจะมีเวทีหารือย่อยในหลากหลายประเด็นโดยเฉพาะเรื่องทิศทางในการพัฒนากีฬาจักรยานในภูมิภาค แนวนโยบายของยูซีไอที่จะมีต่อภูมิภาคเอเชีย รวมไปถึงความช่วยเหลือในโครงการพัฒนาบุคลากรต่าง ๆ ทั้งนักกีฬา ผู้ฝึกสอน และผู้ตัดสินภายใต้การดำเนินการของศูนย์ฝึกจักรยานโลกที่จะมาถึงในรอบปี 2568” พลเอกเดชา กล่าว
“เสธ.หมึก” กล่าวต่อไปว่า นอกจากเรื่องนโยบายของยูซีไอดังกล่าวแล้ว ประเด็นสำคัญที่จะหารือกับ มร.ลาปาเตียนก็คือการสนับสนุนประธานยูซีไอในการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ที่ มร.ลาปาเตียน เป็นหนึ่งในแคนดิเดตเลือกตั้งประธานคนใหม่ในการประชุมสมัชชาใหญ่ไอโอซีในเดือนมีนาคม 2568 โดยมีแคนดิเดตคู่แข่งสำคัญอย่าง เซบาสเตียน โค อดีตนักวิ่งระยะกลางเหรียญโอลิมปิกชาวอังกฤษ และ มร.ฮวน แอนโตนิโอ ซามารานซ์ อดีตประธานโอลิมปิกสากลชาวสเปน เป็นคู่แข่งสำคัญ
พลเอกเดชา กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นสำคัญการเลือกตั้งประธานและคณะกรรมการบริหารเอซีซี ล่าสุด กรรมการเลือกตั้งจากยูซีไอ ได้ตรวจสอบคุณสมบัติการเสนอชื่อของแต่ละชาติแล้ว และประกาศรายชื่อประกอบด้วย ผู้สมัครตำแหน่งประธาน 2 คนได้แก่ ดาโต๊ะ อมาจิต ซิงห์ กิล ชาวมาเลเซีย และ มร.รายา ซัปตา ออกโตฮารี ชาวอินโดนีเซีย ผู้สมัครกรรมการบริหาร 19 คน เลือก 12 คน ซึ่งตนเองจะลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งนี้ด้วย หลังจากได้รับเลือกตั้งติดต่อกันมาแล้วหลายสมัย นอกจากนี้ยังจะมีการเลือกผู้ลงคะแนนโควตาเอเชียในการประชุมใหญ่สามัญยูซีไอ 8 คน และ ผู้แทนเอเชียที่จะเข้ารับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารยูซีไอชุดใหม่อีก 4 คน
“การเลือกตั้งครั้งนี้ กรรมการเลือกตั้งตรวจสอบแล้วได้ตัดชื่อผู้สมัครหรือแคนดิเดตออกในแคนดิเดตตำแหน่งกรรมการบริหารมากถึง 10 คน เนื่องจากผิดคุณสมบัติ และส่งใบสมัครล่าช้า ทำให้เหลือแคนดิเดตผู้สมัครที่ถูกต้องสำหรับตำแหน่งกรรมการบริหารเอซีซีชุดใหม่ที่จะดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2568-2571 เพียง 19 คน ซึ่งแนวทางการเลือกทั้งประธานและกรรมการบริหาร สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ จะยึดเอาเรื่องการทำงานพัฒนากีฬาจักรยานภายในประเทศของแต่ละคน รวมถึงการทำงานในระดับนานาชาติ ประกอบกับผลประโยชน์ของวงการจักรยานไทยในอนาคตเป็นหลักสำคัญ” พลเอกเดชา กล่าวในตอนท้าย.