ข่าวทั่วไปพาดหัวข่าว

นายกรัฐมนตรี ประชุมติดตามความคืบหน้างานด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ ผู้ว่าฯ นราธิวาส มอบกระเป๋ากระจูดรุ่น “ banyai my bags ” เป็นของที่ระลึกจากใจชาวนราธิวาส

ปทิตตา หนดกระโทก ผู้สื่อข่าว นราธิวาสรายงาน Tel.0824154474

นายกรัฐมนตรี ประชุมติดตามความคืบหน้างานด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ ผู้ว่าฯ นราธิวาส มอบกระเป๋ากระจูดรุ่น “ banyai my bags ” เป็นของที่ระลึกจากใจชาวนราธิวาส

วันนี้ (16 ม.ค. 68) ที่ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 2 อาคารสำนักงานอธิการบดี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้างานด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ติดตามโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก และโครงการรถไฟทางคู่หาดใหญ่ – สุไหงโก-ลก โดยว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้กล่าวต้อนรับ นายกรัฐมนตรีและคณะ พร้อมรายงาน สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ให้ที่ประชุมได้รับทราบ และมอบกระเป๋ากระจูดรุ่น “ banyai my bags ” ซึ่งเป็นกระเป๋าสานกระจูดผสมใบลาน ปักภาพ นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ผลิตโดย กลุ่มกระจูดบ้านใหญ่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นของที่ระลึกจากใจชาวจังหวัดนราธิวาส ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส ยะลาและปัตตานี

นายวรันธร บุสนาม (น้องหนุ่ม) ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตกรรมแปรรูปกระจูดบ้านใหญ่ นราธิวาส คนรุ่นใหม่จากกลุ่มกระจูดบ้านใหญ่ กล่าวว่า ตนได้รังสรรค์กระเป๋ากระจูดที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ด้วยการปักลายที่เป็นสัญลักษณ์ของ “นายกรัฐมนตรี แพทองธาร” ซึ่งกระเป๋าใบนี้มีความโดดเด่น ตั้งแต่การเลือกเส้นกระจูดผสมใบลาน คัดสรรเส้นที่มีความเหนียว แข็งแรง ย้อมสีธรรมชาติ ผ่านกระบวนการขึ้นรูปที่ประณีต เป็นกระเป๋าถือ และลงลวดลายงานปักซอยภาพท่านนายกรัฐมนตรี ด้วยเส้นด้ายหลากสีสัน ที่ช่วยเพิ่มมิติให้กับกระเป๋าได้อย่างงดงามและมีเอกลักษณ์เลยทีเดียว

“…ตั้งใจออกแบบและผลิตกระเป๋าใบนี้เพื่อให้นายกรัฐมนตรีสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะใช้สำหรับใส่ note book ใส่เอกสาร หรือของใช้ต่าง ๆ โดยเน้นให้กระเป๋าใบนี้มีทั้งความสวยงามและการใช้งานที่ตอบโจทย์…”

ทั้งนี้ ผลงานของน้องหนุ่มไม่เพียงแค่สะท้อนถึงความสามารถของคนรุ่นใหม่ แต่ยังเป็นการสืบสานงานหัตถกรรมพื้นบ้านให้คงอยู่ในวิถีชีวิตสมัยใหม่ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับการออกแบบร่วมสมัยได้อย่างลงตัว ที่สำคัญไม่ใช่เพียงแค่ของใช้ธรรมดา แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการสนับสนุนงานฝีมือท้องถิ่นและการสร้างคุณค่าให้กับชุมชนอีกด้วย