ศรีสะเกษ – จัดพิธียิ่งใหญ่ บวงสรวง “ปราสาทโดนตรวล” มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยคุ้มครองให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข
ศรีสะเกษ !! จัดพิธียิ่งใหญ่ บวงสรวง “ปราสาทโดนตรวล” มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยคุ้มครองให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. ที่ปราสาทโดนตรวล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายพรชัย วงศ์งาม นายอำเภอกันทรลักษ์ เป็นประธานในพิธีสืบสานประเพณีบวงสรวงปราสาทโดนตรวล เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด โดยมี พ.อ.จิระกิจ จิตรภักดี รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวศรีสะเกษ นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี นายบุญเกิด แตะต้อง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสาธงชัย นายวีระยุทธ ดวงแก้ว กำนันตำบลเสาธงชัย นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ อดีต ส.ส. ศรีสะเกษเขต 4 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการภาครัฐ-เอกชน ผู้บริหาร อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก ทั้งนี้สืบเนื่องจากปราสาทโดนตวล เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งของ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นปราสาทขอมโบราณตั้งอยู่ริมหน้าผาสูงบนเทือกเขาพนมดงรัก บริเวณใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ประกอบด้วยปรางค์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยอิฐ ซุ้มประตูก่อด้วยศิลา และมีรูปสิงโตจำหลักอยู่หน้าปราสาท ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และได้มีการสำรวจพบ เทวรูปทำด้วยหิน 1 องค์ สูง 2 ศอกกว้าง 1 คืบเศษ นั่งแท่นหิน ที่แท่นมีจารึกอักษรโบราณสถานช่องตาเฒ่า ที่กรมศิลปากรได้บันทึก คือ ปรางค์ศิลาโดนตรวล สำหรับอายุของปรางค์ศิลาแห่งนี้คงอยู่ราว พ.ศ. 1500-1650
สำหรับกิจกรรมวันนี้ มีประกอบพิธีทางสงฆ์ คือพิธีถวายจตุปัจจัยไทยธรรมและภัตตาหารแด่พระสงฆ์ 9 รูป พิธีเปลี่ยนผ้าสไบให้เทวรูป พิธีผูกผ้าเจ็ดสีที่เสาศิลาแลงและซุ้มประตูทางเข้าปราสาทโดนตวล เสา 14 ต้น มีพราหมณ์มาทำพิธีสวดบวงสรวงหน้าปราสาทโดนตรวล และมีการแสดงย้อนตำนานการสร้างปราสาทโดนตรวล “เนียงด๊อกทม” กล่าวถึงสตรีสูงศักดิ์ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม แต่มีหน้าอกใหญ่ ไปไหนมาไหนไม่สะดวก ต้องเอาสายสร้อยทองคำเป็นสาแหรกรองรับไว้ กิตติศัพท์เลื่องลือไปไกลถึงกษัตริย์ขอมสนใจ ได้ให้เหล่าอำมาตย์มารับนางไปเข้าเฝ้าถวายตัว โดยระหว่างเดินทางคณะได้แวะพักที่ลานหินโดนตรวล เนียงด๊อกทมมีคนรักอยู่แล้วชื่อ ตาเล็ง เป็นคนบ้านเดียวกันกับนาง ได้ตามมาจะพาคนรักกลับบ้าน เกิดการต่อสู้กับเหล่าอำมาตย์ ทำให้ตาเล็งถูกทำร้ายเสียชีวิตและศพถูกเอามาทิ้งไว้ที่ป่าบริเวณที่สร้างปราสาทโดนตรวล เนียงด๊อกทม ร้องไห้อาลัยรักตาเล็งและตรอมใจเสียชีวิต กษัตริย์ขอมเห็นแก่ความรักของทั้งสองจึงได้สร้างปราสาทโดนตรวลไว้ให้เป็นอนุสรณ์ของความรัก
นายบุญเกิด แตะต้อง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสาธงชัย กล่าวว่า อบต.ได้จัดพิธีบวงสรวงปราสาทโดนตรวลมานานหลายปีแล้ว เพราะชาวบ้าน ต.เสาธงชัย มีความเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หากบวงสรวงทุกปีจะทำให้ชุมชนที่อาศัยอยู่แคล้วคลาดปลอดภัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะปกป้องคุ้มครองภัยให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข อีกทั้งเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย
ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวศรีสะเกษ กล่าวว่า ปราสาทโดนตรวล เป็นปราสาทขอมโบราณขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ริมหน้าผาสูงบนเทือกเขาพนมดงรัก ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา สามารถมองเห็นประเทศกัมพูชาได้ ตัวปราสาทประกอบด้วยปรางค์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยอิฐ ซุ้มประตูก่อด้วยศิลา และมีรูปสิงโตจำหลักอยู่หน้าปราสาท ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก บริเวณหน้าปราสาทมีถนนปูด้วยหินขนาดเล็ก กว้าง 6 เมตร มีเสาหิน 2 คู่ สูง 3 เมตร อยู่ห่างกันราว 250 เซนติเมตร ซุ้มประตูทางเข้าปราสาทมีรูปสิงโตจำหลักตั้งอยู่บนแท่นข้างละ 1 ตัว ตัวปราสาทประกอบด้วยซุ้มประตู และปรางค์ 2 องค์ ซุ้มประตูมีจำนวน 3 ประตำ ก่อด้วยศิลา ประตูกลางมีขนาดใหญ่ที่สุด กว้าง 1 เมตร สูง 2.5 เมตร ประตูเล็กซ้ายขวา กว้าง 70 เซนติเมตร สูง 1.8 เมตร กรอบประตูและศิลาทับหลังไม่ได้จำหลักลวดลาย ปรางค์องค์หน้าอยู่ถัดจากซุ้มประตูเข้าไปประมาณ 1 เมตร หักพังจนมีสภาพเป็นกองอิฐทับถมกันอยู่ ปรางค์องค์ในอยู่ห่างจากปรางค์องค์แรกประมาณ 1 เมตร ก่อด้วยอิฐและศิลาแลงฐานทำเป็น 4 ชั้น กว้างด้านละ 6 เมตร สูง 26 เมตร ตัวปรางค์มีประตูเข้าออกทางด้านหน้า 1 ประตู กว้าง 1 เมตร สูง 2 เมตร คูหาปรางค์มีเนื้อที่ 3.7×3 เมตร ลักษณะของปรางค์เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมสลับซับซ้อนลดหลั่นกันไปจนถึงยอด ห่างจากปราสาทประมาณ 10 เส้น มีสระน้ำขนาดใหญ่กว้างด้านละ 80 เมตร มีร่องระบายน้ำจากยอดเขาลงมาสู่สระร่องน้ำลึกประมาณ 2 เมตร กรมศิลปากรบันทึกไว้ว่าที่ช่องตาเฒ่า ตำบลบึงมะลู อำเภอกันทรลักษ์ ซึ่งเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการสำรวจพบ เทวรูปทำด้วยหิน 1 องค์ สูง 2 ศอก กว้าง 1 คืบเศษ นั่งแท่นหิน ที่แท่นมีจารึกอักษรโบราณสถานช่องตาเฒ่าที่กรมศิลปากรได้บันทึก คือ ปรางค์ศิลาโดนตรวล สำหรับอายุของปรางค์ศิลาแห่งนี้คงอยู่ราว พ.ศ. 1500-พ.ศ. 1650 นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมปราสาทโดนตรวลได้เพราะอยู่ระหว่างเส้นทางไปผามออีแดง
ข่าว/ภาพ … บุญทัน ธุศรีวรรณ