รมว.ยุติธรรมเตือนกลุ่มลูกหนี้ กยศ.ให้ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐ หากมาใช้หนี้ กยศ.ไม่ผิดแต่ผิดวัตถุประสงค์ ส่วนกรณีจำเลยตากใบ โดยเฉพาะที่เป็น ส.ส.หนีไม่พ้นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องติดตาม
ฮามีดะห์ ยูโซ๊ะ ผู้สื่อข่าว นราธิวาสรายงาน
รมว.ยุติธรรมเตือนกลุ่มลูกหนี้ กยศ.ให้ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐ หากมาใช้หนี้ กยศ.ไม่ผิดแต่ผิดวัตถุประสงค์ ส่วนกรณีจำเลยตากใบ โดยเฉพาะที่เป็น ส.ส.หนีไม่พ้นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องติดตาม
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 ก.ย.67 ที่ห้องประชุมโรงแรมอิมพีเรียล อ.เมือง จ.นราธิวาส พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะประกอบด้วยนายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.ต.ท.พัฒนวุธ อังคะนาวิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ โฆษกพรรคประชาชาติและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.นราธิวาส เขต 5 นายซูการ์โน มะทา ส.ส จ.ยะลา ได้ร่วมเดินทางมาเปิดมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและหนี้ครัวเรือน โดยมีนายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี นายวีรพัฒน์ บุณฑริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และนายวินัย หมวกมณี ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนราธิวาส รวมทั้งประชาชนกว่า 1,000 คน คอยให้การต้อนรับ
ซึ่งมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้ กยศ.และหนี้ครัวเรือน ในครั้งนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในพื้นที่ จ.นราธิวาส โดยในวันนี้มีลูกหนี้ กยศ.ได้เดินทางมาไกล่เกลี่ยหนี้เข้าระบบ จำนวน 1,753 คน รวมจัดงาน 3 ครั้ง มีลูกหนี้มาไกล่เกลี่ยเข้าระบบ รวมทั้งสิ้น 12,776 คน จากยอดรวมประชาชนที่เป็นลูกหนี้เข้าหลักเกณฑ์ในการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. จำนวน 57,313 คน ซึ่งลูกหนี้ทุกคนที่เข้าการปรับโครงสร้างหนี้ สามารถจ่ายหนี้ได้ยาวนานถึง 15 ปี โดยที่ผู้ค้ำได้หลุดหนี้จากโครงสร้างทุกราย
ด้าน พ.ต.อ.ทวี รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ในส่วนของเงินดิจิตอลวอลเล็ตก้อนแรกจะให้ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งลูกหนี้ กยศ.จะอยู่ในกลุ่มนี้หรือเปล่านั้นไม่ทราบ ซึ่งเงินดิจิตอลวอลเล็ตเรามีเจตจำนงว่าเงินก้อนนี้ยังไม่อยากให้ไปใช้หนี้ กยศ. แต่ต้องการให้ใช้ตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล เศรษฐกิจจะได้ฟื้นกลับมาดั่งเดิม
นอกจากนี้ พ.ต.อ.ทวี รมว.ยุติธรรม ยังได้กล่าวถึงกรณีศาล จ.นราธิวาส ออกหมายจับจำเลย 6 คน และหมายเรียกอีก 1 คน ซึ่งเป็น ส.ส. ในส่วนของจำเลยที่ 1 ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 แบ่งอำนาจโดยชัดเจนโดยอำนาจตุลาการกับอำนาจนิติบัญญัติก็เป็นการเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งใครก็ตามที่เป็นผู้ต้องหาของตำรวจ แต่ถ้าเป็นจำเลยถ้าศาลรับฟ้องแล้วก็เป็นอำนาจศาลที่จะสามารถดำเนินการได้อย่างอิสระ แต่ก็มีข้อแม้เรื่องการประสานงานเขียนระบุว่าไม่ควรจะขัดขวาง คือจะไปดำเนินคดีในวันประชุมสภา อย่างจำเลยที่ 1 เป็นอำนาจศาล 100 % ที่จะจับในกรณีที่ไม่มาศาลเป็นการออกหมายจับหรือการประสานงานกับศาลเดี่ยวอาจจะกลายเป็นการเข้าใจผิด เพราะในวันนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่เคยมีมาก่อน มีเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2560 เราได้เขียนมาตรา 225 วรรคสุดท้ายว่ากรณีที่ประชาชนไปฟ้อง สส.หรือ สว. ถ้าศาลไต่สวนว่ามีมวลจับเป็นจำเลยแล้ว ซึ่งในมาตรานั้นที่จะไปประสานสภาต้องเป็นแค่ผู้ต้องหาคือระหว่างสอบสวนยังไม่มีการฟ้องศาล ซึ่งเมื่อฟ้องศาลแล้วก็เป็นอำนาจศาล ศาลก็สามารถดำเนินคดีได้ แต่เรามีข้อแม้ในรัฐธรรมนูญว่าไม่ให้ขัดขวางการประชุมของสมาชิกนั้นๆ ดังนั้นทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงจะประสานศาลเพราะในข้อบังคับของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรซึ่งไม่เกี่ยวกับประธานสภา
“ โดยในส่วนของรัฐบาลนั้นถ้ามีคำสั่งของเจ้าพนักงานที่มีอำนาจออกหมายถือคำสั่งศาลมา เช่นให้มีหมายจับ หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยก็จะต้องเอาตัวมาให้ได้ซึ่งเป็นหน้าที่ ซึ่งตอนนี้จำเลยมี 6 คน ที่ศาลมีหมายเราก็ต้องจัดการตามหมาย ซึ่งในหลักการเขาจะส่งไปที่ตำรวจ แต่ก็หนีไม่พ้นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องติดตาม ซึ่งก็จะมีการประสานงานโดยที่ศาลจะนัดวันอยู่แล้ว “ พ.ต.อ.ทวี รมว.ยุติธรรม กล่าว